วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

การตรวจสอบระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ

             การตรวจสอบระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ
       การตรวจสอบข้อบกพร่องของระบบระบายความร้อนด้วยน้ำเป็นการตรวจเพื่อพิจารณาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขให้ถูกต้องได้อย่างรวดเร็วตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
  1.การตรวจสอบอากาศภายนอกรั่วเข้าในระบบระบายความร้อนอากาศภายนอกจะถูกดูดเข้าไปผสมกับน้ำหล่อเย็น โดยจะถูกดูดเข้าตามข้อต่อท่อยางระหว่างปั๊มน้ำกับหม้อน้ำรถยนต์ ฟองอากาศจะทำให้เกิดแรงดันสูงขึ้นดันให้น้ำหล่อเย็นไหลออกจากหม้อน้ำ ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัด
    อากาศที่รั่วเข้าไปในระบบได้นั้นก็เนื่องมาจากเกิดการขันเข็มขัดรัดท่อยางไม่แน่น ทำให้เกิดรอยรั่วได้ และน้ำหล่อเย็นในระบบระบายความร้อนมีระดับต่ำมากเกินไป
      วิธีการตรวจสอบให้ทำการตรวจสอบดังนี้
  -เติมน้ำหล่อเย็นให้ได้ระดับที่กำหนด
  -เปลี่ยนฝาหม้อน้ำใหม่เพื่อให้การตรวจสอบมรความแม่นยำขึ้น หรือปิดฝาหม้อน้ำให้แน่น ไม่ให้มีอากาศเข้าได้
  -ต่อท่อยางเข้ากับท่อระบายน้ำที่คอหม้อน้ำ เพื่อให้เกิดความแน่ใจควรตรวจสอบท่อยางที่ต่อ จะต้องไม่มีอากาศเข้าไปได้
  -นำท่อยางที่ต่อจากหม้อน้ำจุ่มลงขวดแก้วที่จะทำการตรวจสอบ
  -ปลดเกียร์รถยนต์ให้อยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง สตาร์ตเครื่องยนต์เร่งเครื่องยนต์ด้วยความเร็วรอบสูงจนเข็มวัดอุณหภูมิความรอนขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งความร้อนปกติ
  -ตรวจดูฟองอากาศที่เกิดขึ้นในขวดแก้ว ถ้ามีอากาศจากภายนอกรั่วเข้าในระบบ ฟองอากาศจะผุดขึ้นในขวดแก้วอย่างเห็นได้ชัด
2.การรั่วของแก๊สไอเสียเข้าในระบบระบายความร้อน สาเหตัการรั่วของแก๊สไอเสียเนื่องมาจากฝาสูบแตกร้าว ฝาสูบมีรูให้แก๊สไอเสียที่มีความร้อนระบายเข้าไปในระบบภายใต้แรงดันของห้องเผาไหม้ และยังทำให้น้ำหล่อเย็นไหลเข้าไปในกระบอกสูบ แก๊สไอเสียจะทำปฏิกิริยาทางเคมีกับน้ำหล่อเย็น ก่อให้เกิดสะกรันและสนิมขึ้น ฟองอากาศที่เกิดขึ้นภายในหม้อน้ำเกิดจากแรงดันของแก๊สไอเสียภายในกระบอกสูบ
    วิธีการตรวจสอบการรั่วของแก๊สไอเสียเข้าในระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ให้ดำเนินการเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้
 -ติดเครื่องยนต์ให้มีอุณหภูมิเหมาะสมในการทำงานในสภาวะที่เครื่องยนต์ไม่มีโหลด
 -เปิดฝาหม้อน้ำและสังเกตุฟองอากาศที่เกิดขึ้นภายในน้ำหล่อเย็น
  หมายเหตุ   การตรวจสอบจะต้องปฏิบัติด้วยความรวดเร็วก่อนที่น้ำหล่อเย็นจะร้อนถึงจุดเดือด
3.การทำความสะอาดระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำที่ใช้งานเป็นระยะเวลานานๆ ถ้าละเลยไม่มีการบำรุงรักษาที่ดี จะทำให้เกิดสนิมและตะกรันขึ้นภายในท่อน้ำหม้อน้ำของรถยนต์ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการอุดตัน น้ำในหม้อน้ำไม่สามารถระบายความร้อนออกไปจากระบบได้ เป็นสาเหตุให้น้ำหล่อเย็นมีอุณหภูมิสูงและแรงดันเพิ่มขึ้นน้ำจะถึงจุดเดือดกลายเป้นไอระบายผ่านท่อน้ำทิ้งที่คอหม้อน้ำ จากการที่น้ำในระบบระบายความร้อนด้วยน้ำถูกระบายออกไป จะเป็นผลให้ปริมารน้ำในหม้อน้ำลดลง ดังนั้นประสิทธิภาพในการระบายความร้อนก็จะลดลงด้วยเช่นกัน ผลต่อเนื่องจะทำให้เกิดความสูญเสียกำลังงานและเกิดการชำรุดเสียหายกับเครื่องยนต์
    การทำความสะอาดระบบระบายความร้อนด้วยน้ำทำได้ 2 วิธีดังนี้
 3.1 การล้างรถยนต์ด้วยวิธีฉีดน้ำย้อนกลับ  จากสาเหตุการอุดตันของสนิมภายในท่อน้ำของหม้อน้ำในระบบหล่อเย็น จึงจำเป็นจะต้องชะล้างให้สนิมที่เกาะอยู่ภายในออกให้หมดดังนั้นการทำความสะอาดจึงต้องใช้เครื่องมือพิเศษโดยอาศัยการฉีดน้ำควบคู่กับลมที่มีแรงดันสูงให้ย้อนทิศทางการไหลหมุนเยนของน้ำหล่อเย็นตามปกติ ซึ่งจะทำให้สนิมที่เกาะอยู่หลุดออกโดยง่ายการใช้แรงดันของอากาศฉีดเข้าไปในหม้อน้ำจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างของหม้อน้ำเป็นสำคัญ  ซึ่งขั้นตอนในการล้างหม้อน้ำด้วยการฉีดน้ำย้อนกลับมีดังนี้
  -จะต้องถอดยางหม้อน้ำส่วนบนและล่างที่ต่อเข้ากับเครื่องยนต์ออกก่อน
  -ต่อหัวแดเข้ากับยางท่อน้ำด้านล่าง
  -ฉีดน้ำกับลมเข้าไปในหม้อน้ำเพื่อให้สนิมที่อุดตันชะล้างออกจากหม้อน้ำ (ลมที่ใช้จะต้องมีแรงดันไม่เกิน 1.3 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร หรือ 20 ปอนต่อตารางนิ้ว ) ถ้าใช้แรงดันมากกว่าที่กำหนดจะทำให้หม้อน้ำเกิดการชำรุดเสียหายได้
  -ฉีดน้ำกับลมจนกระทั่งน้ำที่ไหลออกมาจากท่อสะอาดไม่มีสนิม
3.2 การล้างช่องทางน้ำหล่อเย็นด้วยวิธีการฉีดน้ำย้อนกลับ ภายในเสื้อสูบของเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ถ้าขาดการบำรุงรักษาที่ดีก็จะมีสนิมเกาะภายในเช่นเดียวกับหม้อน้ำรถยนต์ซึ่งจะทำให้การระบายความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้เป็นไปอย่างช้า เป็นสาเหตุให้เครื่องยนต์ร้อนจัด  ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงจำเป็นจะต้องชะล้างสนิมที่จับเกาะเสื้อสูบให้หมดไป โดยวิธีการฉีดน้ำกับลมย้อนกลับทิศทางการไหลหมุนเวียนของน้ำหล่อเย็นตามปกติ ขั้นตอนการล้างช่องทางน้ำหล่อเย็นของเสื้อสูบด้วยวิธีฉีดน้ำย้อนกลับทำได้ดังนี้
 - ก่อนทำการล้างต้องถอดทำความสะอาดเทอร์โมสตัตและปั๊มน้ำออกจากเครื่องยนต์เสียก่อนเนื่องจากแรงดันของน้ำจะทำให้ซีลของปั๊มน้ำเสียหาย
  -ติดตั้งหังฉีดน้ำเข้าทางด้านบนของท่อน้ำเข้า
  -ถอดยางท่อน้ำด้านล่างออก
  -ฉีดน้ำและลมเข้าไปในช่องทางน้ำหล่อเย็นของเสื้อสูบ และปฏิบัติเช่นเดียวกันจนน้ำที่ระบายออกจากเสื้อสูบไม่มีตะกรันและสนิม
4.การตรวจสอบฝาหม้อน้ำและหม้อน้ำรถยนต์ การตรวจสอบสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
  -ตรวจสอบฝาหม้อน้ำด้วยเครื่องมือทดสอบฝาหม้อน้ำ โดยติดตั้งเครื่องมือทดสอบและปั๊มเครื่องมือทดสอบจนลิ้นลดแรงดันริ่มเปิดที่กำลังดัน 0.60 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ( 8.5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว )จากนั้นให้ตรวจดูกำลังดัน จะต้องไม่ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยจะต้องไม่ต่ำกว่า 0.60 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ถ้าไม่ได้ตามที่กำหนดให้เปลี่ยนฝาหม้อน้ำใหม่
  -ตรวจการรั่วของระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ โดยใช้เครื่องมือทดสอบเช่นเดียวกับการทดสอบฝาหม้อน้ำติดตั้งเครื่องมือทดสอบเข้ากับหม้อน้ำและปั๊มเครื่องมือทดสอบให้ได้ 0.9 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ( 12.8 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว )
5.การตรวจสอบคอหม้อน้ำรถยนต์ เป็นการตรวจสอบสภาพบ่ารองหน้าสัมผัสของฝาหม้อน้ำ จะต้องมีลักษณะผิวหน้าที่เรียบ ไม่ขรุขระ สะอาดไม่มีสิ่งสกปรก ถ้าหน้าสัมผัสไม่เรียบ ควรปรับซ่อมด้วยเครื่องมือคว้านหน้าสัมผัสให้เรียบ แต่ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ให้เปลี่ยนคอหม้อน้ำใหม่
   นอกจากตรวจสอบบ่ารองหน้าสัมผัสแล้ว จะต้องตรวจขอบคอหม้อน้ำสำหรับล็อคฝาหม้อน้ำให้แน่น จะต้องมีลักษณะโค้งไม่บิดเบี้ยว ส่วนท่อน้ำล้นที่เป็นท่อโลหะจะต้องไม่มีรอยแหว่ง เพราะจะมีผลทำให้น้ำหล่อเย็นรั่วไหลออกจากระบบได้
6.การตรวจยางท่อน้ำของระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ยางท่อน้ำที่ใช้จะต้องมีคุณสมบัติที่ดีคือจะต้องบีบรัดกระชับแน่น ไม่แข็งหรืออ่อนเกินไปเมื่อทดสอบบีบท่อน้ำดูและจะต้องไม่บวมพองในขณะที่ได้รับแรงดันสูงยางท่อน้ำที่นำมาใช้จะต้องเป็นท่อยางที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ ซึ่งมีลักษณะที่โค้งงอพอดีกับเครื่องยนต์แต่ละรุ่น
   ยางท่อน้ำที่ถูกความร้อนเป็นระยะเวลายาวนานจะเสื่อมสภาพ สังเกตุได้จากท่อยางด้านนอกจะปริแตกไม่ได้รูป ยางจะฉีกขาดจนเห็นผ้าใบด้านในจะมีเศษของท่อยางและคราบสนิม สำหรับยางท่อน้ำของหม้อน้ำด้านล่างเมื่อเสื่อมสภาพ อากาศภายนอกจะรั่วเข้าระบบ ซึ่งจะมีผลให้การไหลเวียนของน้ำเป็นไปไม่สะดวก โดยตามปกติแล้วการทำงานของระบบระบายความร้อนด้วยน้ำจะต้องอยุ่ภายใต้สูญญากาศ ส่วนการรั่วของแก๊สไอเสียจากการเผาไหม้เข้าไปในระบบจะมีผลทำให้เกิดสนิมเหล็กขึ้นภายในหม้อน้ำ และทำให้หม้อน้ำอุดตัน
7.การเปลี่ยนยางท่อน้ำรถยนต์ ยางท่อน้ำที่จะนำมาเปลี่ยนใหม่จะต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่พอดีกับขนาดท่อโลหะ ท่อทางเดินของน้ำที่หม้อน้ำกับเครื่องยนต์ไม่ควรใช้ท่อยางที่มีขนาดที่แข็งเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดการแตกร้าว หลวมและเกิดการรั่ว ควรใช้ยางท่อน้ำแบบที่มีความยืดหยุ่นได้
      เมื่อเปลี่ยนยางท่อน้ำใหม่ทุกครั้ง จะต้องทาน้ำยาปะเก็นที่ท่อโลหะ ไม่ควรทาน้ำยาทาปะเก็นภายในท่อยางที่จะทำการเปลี่ยนใหม่ เพราะจะทำให้น้ำยาทาปะเก็นถูกดูดเข้าไปในระบบ ซึ่งจะทำให้ไปอุดตันขึ้นที่ท่อน้ำของหม้อน้ำรถยนต์ได้
8.การตรวจสายพานรถยนต์  สายพานรถยนต์จะต้องทำการตรวจสอบสภาพการใช้งานเป็นประจำ โดยจะต้องตรวจสายพานด้วยการบิดสายพานเพื่อตรวจดูสภาพการแตกร้าว ผิวหน้าสัมผัสแข็งเป็นมัน เปื้อนน้ำมันหล่อลื่น ผ้าใบฉีกขาด ซึ่งเมื่อสายพานเกิดการชำรุดในขณะทำงาน จะมีผลทำให้ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำเป็นไปไม่สมบูรณ์ เครื่องยนต์เกิดการร้อนจัด
9.การเปลี่ยนสายพานรถยนต์ ภายหลังการตรวจสภาพสายพานแล้วเมื่อจะต้องทำการเปลี่ยนสายพานใหม่ จะต้องคลายโบลด์ปรับความตึงสายพานที่อุปกรณ์ต่างๆ เช่น อัลเทอร์เนเตอร์ ปั๊มน้ำมัน พวงมาลัยเพาเวอร์ และคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศที่ใช้สายพานในการขับเคลื่อนเมื่อถอดสายพานออกจะต้องทำความสะอาดคราบน้ำมันหล่อลื่นและจารบีที่บริเวณผิวหน้าสัมผัสที่พูลเลย์สายพานออกให้หมดเพื่อป้องกันสายพานลื่น
     สายพานที่นำมาเปลี่ยนใหม่จะต้องได้ขนาดความกว้างและความยาวตามขนาดเดิมของสายพานที่เปลี่ยนออกและจะต้องตรวจดูว่าร่องของสายพานขับกับพูลเลย์สวมกันพอดีหรือไม่
10.การปรับความตึงของสายพาน การปรับความตึงของสายพานมีวิธีการอยู่ 2 วิธีด้วยกันคือ
  10.1 การปรับความตึงด้วยแรงกด  การปรับจะต้องกดสายพานให้หย่อนตัวด้วยแรงกดประมาณ 10 กิโลกรัม ( 22ปอนด์ ) และใช้ไม้บรรทัดเหล็กวัดระยะความหย่อนของสายพาน  ระยะความหย่อนจะต้องอยู่ในระยะห่างจากจุดเดิมประมาณ 6-7 มิลลิเมตร สำหรับสายพานใหม่  ส่วนสายพานเก่าระยะห่างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร
  10.2 การปรับความตึงของสายพานด้วยเครื่องมือวัดแรงดึง  การใช้เครื่องมือวัดจะต้องดึงสายพาน  สำหรับสายพานใหม่จะต้องใช้แรงดึงประมาณ 75-85 กิโลกรัมส่วนสายพานเก่าจะต้องใช้แรงดึงสายพานประมาณ  50-70  กิโลกรัม
11.การตรวจสอบเทอร์โมสตัต เทอร์โมสตัตที่ใช้ในระบบระบายความร้อนด้วยน้ำทุกแบบจะต้องทำงานควบคุมอุณหภูมิความร้อนของน้ำหล่อเย็นให้อุณหภูมิได้ตามที่กำหนดของแต่ละแบบ โดยทั่วไปจะมีตัวเลขบอกอุณหภูมิที่ติดไว้เพื่อแสดงอุณหภูมิของการเปิดลิ้น ถ้าเทอร์โมสตัตชำรุดหรือไม่ทำงานจะมีผลเสียให้น้ำหล่อเย็นมีความร้อนจัดมากเกินไป แต่ถ้าลิ้นของเทอร์โมสตัตเปิดเร็วเกินไป การควบคุมน้ำหล่อเย็นจะไม่อุ่นความร้อนของเครื่องยนต์ อุณหภูมิการเปิดของลิ้นประมาณ 86 ถึง 90 องศาเซลเซียส วิธีการตรวจสอบให้ทำการตรวจสอบเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้
  -จุ่มเทอร์โมสตัตลงในน้ำและให้ความร้อนจนน้ำร้อนเต็มที่
  -ตรวจสอบอุณหภูมิการเปิดของลิ้นด้วยเทอร์โมมิเตอร์
  -ลิ้นของเทอร์โมสตัตจะเริ่มเปิดตามอุณหภูมิที่ติดไว้ที่เทอร์โมสตัต
  -ถ้าลิ้นเปิดไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ให้ทำการเปลี่ยนเทอร์โมสตัตใหม่
12.การถอดปั๊มน้ำเครื่องยนต์ การถอดปั๊มน้ำสามารถถอดตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้
  -ถอดปั๊มน้ำออกโดยการคลายน็อตยึดปั๊มน้ำออก
  -ถอดโบลด์ยึดชุดปั๊มน้ำและปะเก็นออก
  -ถอดแยกปั๊มน้ำ  ปะเก็น  ออกจากเรือนปั๊มด้วยการคลายน็อตยึด
 13.การตรวจสอบปั๊ม การตรวจสอบปั๊มน้ำสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
  -ตรวจสอบหน้าแปลนปั๊มน้ำ จะต้องไม่ชำรุดแตกร้าวซึ่งจะทำให้น้ำหล่อเย็นรั่วได้
  -ตรวจสอบการหมุนของลูกปืนปั๊มน้ำ จะต้องหมุนไม่ติดขัดและเสียงดัง
14.การเปลี่ยนลูกปืนและซีลปั๊มน้ำ การเปลี่ยนลูกปืนและซีลปั๊มน้ำสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
  -ถอดหน้าแปลนยึดใบพัดลมออกด้วยไฮดรอลิกที่กดที่เพลาของลูกปืนปั๊มน้ำ
  -ถอดลูกปืนปั๊มน้ำและอิมเพลเลอร์จากเสื้อปั๊มโดยใช้ไฮดรอลิกกดออก
  -ถอดอิมเพลเลอร์ออกจากเพลาปั๊มน้ำ
  -ถอดซีลปั๊มน้ำออก
15.การประกอบลูกปืนและซีลปั๊มน้ำ  การประกอบลูกปืนและซีลปั๊มน้ำปฏิบัติดังนี้
  -ประกอบลูกปืนปั๊มน้ำเข้ากับเสื้อปั๊มโดยใช้ไฮดรอลิกกดเข้า และตรวจระยะความห่างของลูกปืนให้ได้ตามค่าที่กำหนด
  -การประกอบหน้าแปลนยึดใบพัดลมเข้ากับเพลาปั๊มด้วยแรงกดของไฮดรอลิก (ใช้เกจวัดระยะตำแหน่งของหน้าแปลนเพื่อให้ระยะห่างของหน้าแปลนถูกต้อง
  -ประกอบอิมเพลเลอร์เข้ากับเพลาปั๊ม (ใช้ฟิลเลอร์เกจตรวจสอบระยะห่างระหว่างอิมเพอเลอร์กับเสื้อปั๊ม)
16.การเปลี่ยนปลั๊กตาน้ำ ปลั๊กตาน้ำที่ติดตั้งที่เสื้อสูบมีไว้เพื่อทำความสะอาดช่องทางน้ำหล่อเย็นภายในเสื้อสูบ ปลั๊กตาน้ำจะต้องถูกเปลี่ยนออกทุกครั้งเมื่อทำการซ่อมเครื่องยนต์ ถ้าไม่ทำการเปลี่ยนใหม่ ปลั๊กตาน้ำจะเกิดการรั่วได้เนื่องจากสนิม  ปลั๊กตาน้ำที่ใช้ในการอุดช่องทางของน้ำหล่อเย็นมี 2 แบบคือ
   -ปลั๊กตาน้ำแบบถ้วย (cup type plug )
   -ปลั๊กตาน้ำแบบขยายตัว (expansion type plug )
การเปลี่ยนปลั๊กตาน้ำจะทำการถอดออกได้โดยการเจาะและดึงออก สำหรับการประกอบจะต้องเลือกเครื่องมือตอกปลั๊กให้ถูกต้องกับปลั๊กแต่ละแบบ

WWW.PCNFORKLIFT.COM

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น